Open Hour : Mon-Fri 09.00-17.00

Crisis Management

Crisis Management

ผู้บริหารระดับกลางคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการภายใต้วิกฤติ

วิกฤติโควิด-19 เป็นวิกฤติที่ใหม่มาก การบริหารจัดการจำเป็นต้องใช้สติปัญญาความสามารถของคนทั้งองค์กรอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบความคิดใหม่ ซึ่งไม่สามารถคิดและทำแบบเดิม ๆ ได้

องค์กรส่วนใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงมักเข้าใจสถานการณ์ จึงวางแผนและตัดสินใจภายใต้กรอบความคิดใหม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้บริหารระดับสูงจะเก่งเพียงใด ด้วยความเป็น “บริบทใหม่” หรือ New Normal การวางแผนและการตัดสินใจในเรื่องใหม่แบบนี้คงมีถูกบ้างและผิดบ้าง ซึ่งอาจจะผิดมากกว่าถูกเยอะหน่อย

ที่จริงแล้ว ในบริบทแบบเดิม ผู้บริหารก็ตัดสินใจในเรื่องสำคัญถูกบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา เพียงแต่ว่าโอกาสผิดอาจจะไม่มากและเสียหายสูงนัก เพราะเขาประเมินสภาวะแวดล้อมได้จากบริบทเดิมที่พอคาดการณ์ได้บ้างเและยังมีความผันผวนไม่มากนัก

ในบริบทใหม่ การวางแผนและตัดสินใจ จึงคาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ดีเพียงใด

ในขณะที่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีนั้น นอกจากแผนดีและตัดสินใจถูกแล้ว ยังต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำแผนไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้บริหารระดับกลาง หรือ ผู้บริหารระดับต้น (หรือหัวหน้างาน)

และเมื่อลงรายละเอียดระดับปฎิบัติการ ก็จะต้องมีการใช้ดุลพินิจและการตัดสินใจของผู้บริหารระดับกลาง/ต้นมากกว่าในอดีต

เพราะอะไรหรือครับ

เพราะว่า... นโยบาย ระบบ ระเบียบ ขั้นตอนการทำงาน และโครงสร้างองค์กร ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับสถานการณ์แบบนี้ ในขณะเดียวกันก็เป็นเหตุการณ์ที่ใหม่มากซึ่งไม่เคยมีใครมีประสบการณ์มาก่อน

คราวนี้มาถึงปัญหาสำคัญแล้วครับ...

ในองค์กรที่ผู้บริหารระดับกลาง/ต้น ไม่เคยได้ฝึกการใช้ดุลพินิจในภาวะปกติ เพราะว่าผู้บริหารระดับสูงนั้นใช้รูปแบบบริหารแบบ Command & Control มาโดยตลอด กล้มเนื้อการตัดสินใจแทบไม่เคยได้ใช้งาน

ก็คงเป็นการยากที่เราจะหวังให้เขาใช้ดุลพินิจที่ดีด้วยความมั่นใจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ได้

เราจึงมีโอกาสสูงที่จะเห็นผู้บริหารระดับกลาง/ต้น ลักลั่นที่จะทำตามแผนและการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูง เพราะมีหลายเรื่องในระดับปฎิบัติการที่ไม่มีแนวทางมาให้ ทำให้เขาต้องเริ่มใช้ดุลพินิจ

ซึ่งหมายความว่า หากเขาใช้ดุลพินิจผิด เขาอาจจะต้องรับผิดชอบในผลลัพธ์ด้วยใช่ไหม

เพราะความไม่เคยใช้/ไม่คุ้นชิน ผนวกกับความกลัวผลที่จะตามมา

ดังนั้น พวกเขาอาจจะเลือก...

1. ทำตามที่สั่งทั้งหมด แม้ว่าจะไม่เข้าใจ
2. ทำไปตามที่เขาเข้าใจบางส่วน และเลือกที่จะไม่ทำในเรื่องที่ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วย
3. ไม่ทำอะไรเลย เพราะคิดว่าจะได้ไม่ผิดเลย
4. ทำแบบเดิมที่เคยทำ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับวิธีใหม่เลย แต่ทำเพราะคุ้นเคยหรือคิดว่าปลอดภัยดี
5. ทำตามแผนที่ได้รับมอบหมายมาด้วยคามเข้าใจและเต็มใจ และเมื่อถึงจุดที่เขาจะต้องใช้ดุลพินิจ เขาก็เลือกใช้ดุลพินิจที่ดี ซึ่งอาจจะถูกบ้างและผิดบ้าง แต่กล้ารับผิดชอบ

ในฝันเราอยากให้เขาเป็นแบบทางเลือกที่ 5.

แต่ในความเป็นจริง มีโอกาสสูงมากที่เขาอาจเลือกทำในแบบ 1.-4.

ทางแก้คืออะไร

1. ตระหนักในสภาพการณ์เช่นนี้ก่อน
2. สื่อสารให้ชัดเจนเท่าที่จะทำได้
3. อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ที่เราตัดสินใจไปเพราะอะไร และอาจจะถูกและผิดได้ และพร้อมปรับตามสถานการณ์
4. อธิบายให้เขาเข้าใจว่า เราคาดหวังให้เขาตัดสินใจ และยอมรับในการตัดสินใจที่อาจพลาดได้ เพียงแต่ขอให้เขารีบสื่อสารกลับมา แล้วมาร่วมกันหารือเพื่อปรับแผนตามสถานการณ์
5. ติดตามผลเป็นระยะ ให้กำลังใจสิ่งที่เขาทำดี ช่วยคิดเมื่อเขาพลาด กรุยทางเมื่อเขาตัน
6. เราอาจจะต้องหยุดงานที่เป็นงาน Routine อื่นชั่วคราว แล้วมาให้ความสำคัญดับไฟนี้ก่อน จนกว่าไปจะมอด

 615
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์